เราเป็นใคร...แล้วอะไรล่ะที่เป็นเรา?

ความคิดในเรื่อง การปรับเปลี่ยนตัวเอง หลายๆครั้งกลับกลายเป็นการทรมานตนเอง ทรมานจากสิ่งที่ไม่ใช่เรา...แล้วเราเป็นใครล่ะ? อะไรล่ะที่เป็นเรา?

ไม่ใช่เรา แล้วเราคือใคร คือตัวตนของเราที่เรารู้จักจริงๆ หรือแค่คนที่ทำอะไรตามใจตัวเองมากเกินพอดี นี่เป็นสิ่งที่ท่านต้องตอบ ก่อนจะบอกว่าสิ่งใดเป็นเรา และสิ่งใดไม่ใช่เรา

ข้าพเจ้าเคยบันทึกในบล็อกนี้หัวข้อ อดีต ว่าเราเป็นทั้งหมดที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดหรือเป็นเพียงแค่สิ่งที่เราจดจำมันได้ เราอาจจำได้ว่าเราขีจักรยานด้วยล้อเพียงสองล้อได้เมื่อไหร่ โดยประมาณแต่เราจำไม่ได้ถึงขั้นว่าเวลานั้นเป็นเวลาไหน นาทีที่เท่าไหร่ วินาทีใด จริงหรือไม่ ซึ่งก็ไม่แน่อาจมีคนจำได้ แต่กล่าวถึงบุคคลส่วนใหญ่ในโลกว่า สิ่งที่เราเป็นในอดีตนั้นเป็นเราจริงหรือ ในเมื่อเราจำรายละเอียดทั้งหมดของภาชนะบรรจุอดีตที่เรียกว่าความทรงจำได้ไม่ครบถ้วน อดีตหายไปเป็นช่วงๆและจำได้เป็นช่วงๆเช่นกัน แล้วเราเป็นใคร...?

มันอาจจะจริงที่เราไม่จำเป็นต้องมานั่งนึกในเรื่องที่ข้าพเจ้าพล่ามเหล่านี้หรอก ยังมีสิ่งให้ต้องทำและดำเนินไปในชีวิตประจำวันอีกมากมาย เพียงแต่ข้าพเจ้าอยากบอกว่า การกล่าวอ้างความเป็นเรานั้น เอาสิ่งใดมาวัดประเมินว่านี่แหละ ตัวฉัน

คนเราสูญเสียความเป็นตัวเองไปตั้งแต่แหกปากร้องครั้งแรกหลังจากมุดออกมาจากมดลูกแล้ว ท่านลองคิดดูซิว่า หมอถามเราหรือไม่ว่าเราต้องการเก็บหรือไม่เก็บส่วนใดในร่างกายไว้ ไม่เลย ทุกอย่างถูกตัดสินไปตามที่เห็นสมควร โดยผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้ปกครองเรา ท่านเห็นรึเปล่าว่า เราไม่เคยมีสิทธิ์ ตั้งแต่แรกเกิดแล้ว


ท่านอาจแย้งว่า แล้วเด็กบอกได้เหรอ...ครับบอกไม่ได้ ผมถึงพล่ามอยู่นี่ไงครับ ว่าการกล่าวอ้างถึงสิ่งที่เราเป็น กับสิ่งที่กำลังอยากเป็น หรือเป็นอยู่ สิ่งไหนกันแน่ ที่เป็น ตัวเราเอง ไม่ได้โดนครอบงำ จากบุคคลแวดล้อม สภาพแวดล้อม และอะไรๆที่แวดล้อมแล้วแต่จะสรรหามาเรียก

ทุกคนหนี วาทกรรมไม่พ้นหรอกครับ เราหลุดจากวาทกรรมหนึ่ง ก็เข้าสู่อีกวาทกรรมหนึ่งโดยอัตโนมัติ เราจึงจำเป็นต้องรู้จักตัวเองให้ได้มากที่สุด รู้เท่าทันความคิดตัวเองให้ได้มากที่สุด มีสติกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ได้มากที่สุด อย่าใช้อารมณ์ตัดสินคนอื่น หรือแม้กระทั่ง ตัดสินว่าตัวเองเป็นใคร โดยไม่ไตร่ตรอง เพราะอะไรก็ตามที่สติไม่ครองอยู่ด้วย มักจบที่หายนะเสมอๆ

แล้วตัวท่านล่ะเป็นใคร ข้าพเจ้าไม่ได้ถามนะ ข้าพเจ้ากำลังบอก เพราะคำตอบอยู่ที่ท่านเอง และอาจอยู่มานานแล้ว แต่ถูกกดทับด้วย สิ่งปรุงแต่งของสังคมรอบกาย



วันคืนของคนเรานั้นมีจำกัด วินาทีนี้
คนนับหมื่นนับแสนกำลังลืมตามาดูโลก
บางคนถูกลิขิตให้มีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ บางคนเพียงไม่กี่นาที
แล้วก็ตกเป็นเหยื่อของโรคภัยหรือเคราะห์กรรมน่าอนาถต่างๆนาๆ
บางคนอาจอยู่รอดมาเป็นศตวรรษ หรือเกินกว่านั้นนิดหน่อย
และได้ดื่มด่ำกับทุกๆรสชาตที่เวลาในชีวิตหยิบยื่นให้
ทั้งสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการ


แต่ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่แค่หนึ่งนาทีหรือหนึ่งศตวรรษก็ตาม
คำถามที่สำคัญยิ่งและจำเป็นต้องตอบตัวเองให้ได้ คือ อะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต
และอะไรที่ทำให้เรามีคุณค่า?


จากหนังสือ
ศิลปะแห่งความสุข
โดย ดาไลลามะที่14
และโฮเวิร์ด ซี.คัทเลอร์
แปลโดย วัชรีวรรณ ชัยวรศิลป์

1 ความคิดเห็น:

blueswing กล่าวว่า...

มีความคิดเห็นค่ะ ^_^/

ฉันว่า "เรา" และความเป็นตัวเรา คือ

ความคิดของเรา : อย่างที่อาจารย์ นักจิตวิทยา ผู้เขียนเรื่อง Stop Worrying and Start Living บอกว่า You are what you think all day long (ฉะนั้น ก็ให้คิดถึงสิ่งที่ดีๆ ด้วย)ฉันว่าเป็นจริงมาก เราคิดยังไง เราก็แสดงออกมายังนั้น เราก็พยายามทำอย่างนั้น ความคิดก็เป็นเราค่ะ

จุดหมายของชีวิต : เราต้องการอะไรในชีวิต ต้องการความรวยของตัว หรือ ต้องการช่วยเหลือคนอื่น คนสองคนนี้ก็ปฏิบัติต่อสิ่งที่พบ คนที่เจอต่างกันค่ะ อยู่ที่ว่า คุณจะเป็นคนแบบให้ และคนแบบไหนคือคนแบบคุณ และ ความสุข ในความหมายของคุณ คืออะไร

ฉันคิดว่า สิ่งเหล่าคือ คือสิ่งที่หลอมมาเป็นตัวเราค่ะ อดีต เป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราจะเลือกมองมัน ในมุมต่างๆ จะมองให้เศร้า หรือจะมองให้สร้างสรรค์

แต่ บางที เราเจอคนที่ต่างกับเรามาก แล้วเขามาทำอะไรกระทบใจเรา มันก็ทำให้เราต้องมานั่งคิดเกี่ยวกับตัวเองว่า ที่เราคิด ที่เราทำมันถูกแล้วดีแล้ว หรือเปล่า มันทำให้คุณต้องกลับไปมองว่า จุดหมายของชีวิตคุณคืออะไร และ คุณอยู่เพื่ออะไร คุณอาจจะพบว่า จุดหมายของคนๆนั้นต่างจากเราค่อนข้างมาก...