ความรู้...
คนเราจะมีความรู้ได้อย่างไร
คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ...แสวงหา
แต่สมัยนี้ คนเราแสวงหาอะไรที่ไม่ใช่ความรู้ แต่แสวงหาความโง่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ใช่ว่าไม่จำเป็นต้องมีความรู้แล้วจะใช้สิ่งเหล่านั้นได้ ทุกสิ่งต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้
ยกตัวอย่าง ท่านไม่เคยขับรถยนต์ อยู่ๆท่านจะขับมันไปอย่างนั้นเลยได้ไหม ท่านจำเป็นต้องเรียนรู้ใช่หรือไม่ว่า นี่คือ ที่ๆทำให้เครื่องยนต์ทำงาน นี่คือที่บังคับทิศทาง นี่คือที่ๆทำให้รถวิ่ง นี่คือที่ๆทำให้รถหยุด และที่ไหนที่จะทำให้เครื่องยนต์หยุดทำงาน
เห็นหรือไม่ว่า มันคือกระบวนการเรียนรู้ ในที่นี้ข้าพเจ้าไม่พูดถึงสิ่งที่เหนือขึ้นไปคือ การตรัสรู้ เพราะอาจเกินขอบเขตของปุถุชนคนธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าต้องการเจาะจงไปที่ การแสวงหาให้ได้มาซึ่งความรู้ ในแบบที่ตัวเราเต็มใจอยากเรียนรู้
เวลาเราสนใจกิจกรรมอะไรสักอย่างในช่วงชีวิตที่สามารถทำได้ เราจะใคร่ศึกษาหาความรู้ แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ ด่วนได้ และชอบทำอะไรข้ามขั้นตอน ชอบหาทางลัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่หวัง โดยลืมความสำคัญของ พื้นฐานแห่งความรู้ในเรื่องนั้นๆ ตะแบงทำไปโดยไม่รู้ว่ามันผิดหรือถูก ขอแค่ได้อย่างที่หวังเป็นพอ
มันสมควรหรือ กับการดูถูก กระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนี้
ตอนเริ่มต้นไม่สนใจ แล้วอยู่ๆก็มาบอกว่าตัวข้านี่แหละรู้ มันใช้ได้หรือ ความรู้นั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นจากพื้นฐาน...พื้นฐานที่หลายๆคนมองว่ามันน่าเบื่อ หรือไม่ก็บอกกับตัวเองและคนอื่นว่า รู้อยู่แล้ว ข้ามไปเลยเพื่อความรวดเร็ว ข้าพเจ้าอยากจะบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีหรอก ทางลัดสู่ความสำเร็จ ทุกอย่างต้องเริ่มจากการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน
ตอนเราเป็นทารก เราเรียนรู้ที่จะร้องเวลาหิว ร้องเวลาป่วยไข้ นั้นเป็นความรู้ที่ต้องการใช้สื่อสารกับบุคคลรอบข้างที่ดีที่สุดในขณะที่เรายังแบเบาะใช่หรือไม่
เราเรียนรู้ที่จะนอนคว่ำและเริ่มคลาน เพราะเราต้องการที่จะเคลื่อนที่เข้าหาสิ่งที่อยากเรียนรู้สัมผัสใช่หรือไม่
เราเริ่มหัดพูดและเดินเพื่อศักยภาพที่ดีขึ้นแห่งการแสวงหาความรู้ใช่หรือไม่...
ประโยคที่ว่า "ทุกสิ่งที่สัมผัส คือประสบการณ์แห่งการเรียนรู้" นั้นมีความหมายกับท่านในรูปแบบใด สิ่งที่เราต้องการศึกษา กับสิ่งที่ถูกยัดเยียดให้ศึกษานั้นท่านคิดเห็นต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร
การเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษรที่รวมกันเป็นคำต่อเนื่องเป็นประโยค เพื่อสร้างทฤษฎีร้อยแปด พันประการ การเรียนรู้จำเป็นต้องใช้ปัญญา และสติ ไตร่ตรองให้เห็นแก่นของสาระที่เราจะเรียนรู้ ไม่ใช่จากการครอบงำโดยผู้อื่น
การแสวงหาความรู้ เราต้องเดินเข้าหา ไม่ใช่ให้องค์ความรู้ เข้ามาหาเราเอง
ดังคำถามที่ว่า...น้ำเพียงหยดเดียว จะทำอย่างไรไม่ให้มันเหือดแห้งหายไป
ท่านตอบได้ไหม...
หรือคำถามที่ว่า...จะทำอย่างไรเราจึงจะตักน้ำจนเต็มกระบวยได้
(กระบวย กับกระชอน แยกให้ออกนะ...ว่าอันไหนตักของเหลวได้)
ท่านตอบได้ไหม...
+
+
+
+
+
+
+
+
+
ชีวิตคนเราก็เหมือนกับน้ำหยดเดียวที่สักวันต้องเหือดแห้ง หรือกระบวยที่ไม่มีวันตักน้ำได้จนเต็ม แล้วคำตอบคืออะไรล่ะ
น้ำเพียงหยดเดียวจะทำอย่างไรไม่ให้มันเหือดแห้ง...ก็เทมันกลับลงไปในทะเลซิ
จะตักน้ำอย่างไรจนเต็มกระบวย...ก็ถ้ามันไม่มีทางเต็มได้ ก็โยนกระบวยลงในน้ำซิ เมื่อกระบวยจม น้ำก็เต็มกระบวย
มันบ่งบอกอะไร...ก็บอกว่า การโยนตัวเองเข้าหาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ แทนที่จะให้การเรียนรู้วิ่งเข้าหา นั้น ไม่ได้ยากเย็นเลยหากคิดไตร่ตรองถึงวิธีการแสวงหาความรู้
...แล้วท่านจะ ประสบความสำเร็จ